แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ประกาศคณะทำงานวอร์รูมเพื่อบริหารสถานการณ์โควิด-19

สถาบันวิทยสิริเมธี

เรื่อง แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2564

             ......................................................             

เนื่องจากขณะนี้ได้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ในประเทศไทย สถาบันฯ จึงออกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43 (1) (5) และ (11) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 คณะทำงานวอร์รูมขอยกเลิกประกาศเรื่อง แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 และขอให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

ข้อ 1  แนวปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ COVID-19

1.1       ขอให้ใช้หลักการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และสุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal Hygiene)

เป็นหลักสำคัญในการลดความเสี่ยงและโอกาสในการติดเชื้อ COVID-19     

1.2    ต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อเดินทางออกจากที่พัก

1.3  จัดระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน เข้าคิว ไม่น้อยกว่า 6 ฟุต

1.4  ลดการจับ สัมผัสของใช้ หรือใช้สิ่งของร่วมกัน

1.5  หมั่นล้างทำความสะอาดมือบ่อย ๆ อย่างน้อย 30 วินาที  ควรใช้เจลแอลกอฮอล์ 70

เพื่อทำความสะอาดมือร่วมด้วย และไม่สัมผัสใบหน้าตนเอง

1.6  เมื่อมีอาการไข้หวัด ไอ เจ็บคอ แน่นหน้าอก ไม่ควรเข้าร่วมงานกิจกรรมต่าง ๆ และรีบพบแพทย์โดยทันที

1.7  ให้แขวนบัตรประจำตัวของสถาบันฯ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ภายในพื้นที่สถาบันฯ        

ข้อ 2  การเรียนการสอน

ขอให้ปรับมาใช้รูปแบบการสอน การสอบ และการประเมินผลออนไลน์ เช่น การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) การนำข้อสอบไปทำนอกห้องสอบ (Take-home Examination) เป็นต้น และกรณีการสอบ Qualifying Examination (QE) หรือการสอบโครงร่าง/ป้องกันวิทยานิพนธ์ ในระดับบัณฑิตศึกษา ให้ใช้ระบบออนไลน์หรือบูรณาการร่วมกับระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) 

ข้อ 3  ด้านงานในห้องปฏิบัติการ

3.1  นิสิตและนักวิจัยสามารถเข้าทำงานวิจัยได้โดยใช้หลักการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการดำเนินการวิจัย

3.2  มีมาตรการตรวจคัดกรองหรือวัดไข้ ก่อนอนุญาตให้บุคคลใด ๆ เข้าห้องปฏิบัติการ

3.3  มีการจำกัดจำนวนผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการไม่ให้เกิน 1 คนต่อ 10 ตารางเมตร หรือให้อยู่ในดุลยพินิจและการบริหารจัดการของอาจารย์ที่ปรึกษา

3.4  ขอให้กำหนดตารางงานการเข้าห้องปฏิบัติการอย่างชัดเจนและให้เหลื่อมเวลากัน เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดของห้องปฏิบัติงาน 

ข้อ 4  การทำงานของบุคลากร

ให้หัวหน้างานแต่ละหน่วยงานพิจารณามอบหมายให้บุคลากรสามารถทำงานจากที่บ้าน (work from home) และสื่อสารการทำงานผ่านแอปพลิเคชัน Microsoft Teams หรือแอปพลิเคชันการสื่อสารอื่นที่เหมาะสมเพื่อการดำเนินการของบุคลากรของสถาบันฯ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ในการทำงานเทียบเท่ากับการมาปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการของสถาบันฯ ยกเว้นหน่วยงานที่มีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติงานภายในพื้นที่ของสถาบันฯ โดยให้บุคลากรใช้หลักการระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ของสถาบันฯ โดยระยะห่างควรห่างอย่างน้อย 2 เมตร พร้อมทั้งกำหนดจุดที่นั่งและห้ามนั่งที่ชัดเจน รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 

ข้อ 5  การใช้พื้นที่โรงอาหาร และการจัดส่งอาหาร

5.1  ปิดการใช้โรงอาหารเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศสั่งเปลี่ยนแปลง

5.2  คณาจารย์ นิสิต และบุคลากรของสถาบันฯ สามารถสั่งอาหารจากครัวคุณนกเพื่อให้จัดส่ง ณ จุดจัดส่งของแต่ละอาคาร 

ข้อ 6  การใช้รถตู้ของสถาบันฯ

ยกเลิกการใช้รถตู้ของสถาบันฯ จนกว่าจะมีประกาศสั่งเปลี่ยนแปลง 

ข้อ 7  การให้บริการรถกอล์ฟไปยังสถานที่ต่างๆ

7.1  ให้จัดรถกอล์ฟรับ-ส่งนิสิตและบุคลากรของสถาบันฯที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สถาบันฯ และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ไปยัง Jiffy ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. วังจันทร์วัลเลย์ และตลาดป่ายุบใน โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้




7.2 ให้จัดรถกอล์ฟรับ-ส่งนิสิตและบุคลากรของสถาบันฯ ที่อาศัยอยู่ในโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และหอพัก

เอ็นโคนีมายังสถาบันฯ ดังตารางต่อไปนี้ 

หมายเหตุ การดำเนินการตามข้อ7.1 และ7.2 สถาบันฯ ได้จัดรถกอล์ฟหนึ่งคันต่อหนึ่งรอบเวลา 
โดยให้มีผู้โดยสารภายในรถกอล์ฟได้ไม่เกิน 7 คนต่อหนึ่งคัน และให้มีการติดสติกเกอร์บริเวณจุดที่สามารถนั่งได้

 

ข้อ 8  การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่สถาบันฯ

คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่จะเข้าพื้นที่ของสถาบันฯ เพื่อปฏิบัติงานโดยรถยนต์ส่วนตัว จะต้องติดบัตรเข้า – ออกของสถาบันฯ ที่กระจกรถ พร้อมทั้งติดบัตรประจำตัวของสถาบันฯ เพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ โดยทุกครั้งก่อนเข้าพื้นที่ของสถาบันฯ นั้น บุคคลดังกล่าวพร้อมทั้งบุคคลที่โดยสารมาด้วยทั้งหมด (หากมี) ต้องได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายที่ทางเข้าของสถาบันฯ ณ บริเวณป้อมเข้า – ออกของสถาบันฯ ทั้งนี้ สถาบันฯ กำหนดให้อุณหภูมิร่างกายที่จะตรวจวัดได้ต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส จึงจะสามารถเข้าพื้นที่ได้ หากอุณหภูมิร่างกายที่ตรวจวัดได้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส สถาบันฯ ขอสงวนสิทธิ์ห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่สถาบันฯ

 

ข้อ 9  ห้ามบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่

9.1  กรณีที่บุคคลภายนอกมาจากพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.)  สถาบันฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

9.2  กรณีที่บุคคลภายนอกมาจากพื้นที่อื่นๆ สามารถเข้าพื้นที่สถาบันฯ ได้แต่จะต้องได้ รับอนุญาตจากผู้บริหารระดับคณบดีหรือผู้อำนวยการขึ้นไป

9.3  กรณีของผู้ส่งสินค้า ไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่สถาบันฯ ให้ส่งพัสดุไว้ที่หน้าป้อมหลักเท่านั้น ยกเว้นจำเป็นที่จะต้องเข้าพื้นที่สถาบันฯ ขอให้ได้รับอนุญาตจากคณบดี สำหรับการรับพัสดุ ณ จุดรับพัสดุอาคารวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Building: V) ให้ผู้รับพัสดุมารับพัสดุทันที ทั้งนี้ สถาบันฯ จะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหาย หรือการสูญหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นแก่พัสดุ รวมทั้ง สถาบันฯ จะไม่รับชำระค่าของพัสดุบริเวณทางเข้าป้อมหลัก

9.4  กรณีของผู้รับเหมา สามารถเข้าพื้นที่สถาบันฯ ได้ แต่จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้จัดการอาคารของ บริษัท เอเนอร์ยี คอมเพล็กซ์ จำกัด

9.5  กรณีบุคคลภายนอกตามข้อ 9.2, 9.3 และ9.4 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ของสถาบันฯ ให้บุคคลภายนอกดังกล่าว รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าพื้นที่สถาบันฯ สวมบัตรผู้ติดต่อ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่อยู่ในพื้นที่สถาบันฯ 

ข้อ 10  การเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร

10.1  คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ สามารถเดินทางไปยังต่างประเทศหรือเขตการปกครองได้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตหรืออนุมัติจากผู้บังคับบัญชา

กรณีนิสิตที่จะต้องไปศึกษาต่อหรือทำงานวิจัยที่ต่างประเทศ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ปกครอง รวมทั้งจะต้องส่งแผนในการป้องกันตัวเอง ให้กับคณบดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

        - แผนประกันการเดินทาง

        - แผนรองรับสถานการณ์การติดเชื้อ COVID19 ของมหาวิทยาลัยที่จะไป

        - แผนดำเนินงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาในต่างประเทศ

ผู้ที่เดินทางไปยังต่างประเทศหรือเขตการปกครองอื่นตามข้อ 10.1 นี้ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดโดยสถานทูตประเทศที่จะเดินทางไป และรัฐบาลไทยอย่างเคร่งครัด  

10.2  คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศถึงประเทศไทยภายหลังประกาศฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตหรืออนุมัติให้เดินทาง หรือเดินทางด้วยภารกิจส่วนตัว ให้ผู้นั้นมีหน้าที่ไปรับการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเชื้อไวรัส COVID-19 ณ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเทียบเท่าโรงพยาบาลทันทีเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยโดยจะต้องกักตัวอย่างน้อย 14 วันและให้ปฏิบัติตามประกาศและแนวปฏิบัติของรัฐบาล และนำผลรายงานการตรวจดังกล่าวมาแสดงต่อหัวหน้าคณะทำงานฯ เพื่ออนุมัติล่วงหน้าก่อนเดินทางเข้าพื้นที่สถาบันฯ 

ข้อ 11  การเชิญบุคคลจากต่างประเทศ

บุคคลที่มาจากต่างประเทศที่จะเข้าสถาบันฯ ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่สถาบันฯ ได้ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ข้อ 12 การดำเนินการเมื่อเกิดอาการป่วยเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง

กรณีที่คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ มีอาการป่วยเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงตามประกาศของหน่วยงานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เช่น มีอาการไข้ ไอ จาม เหนื่อยหอบ หรือหายใจติดขัด ให้ดำเนินการ ดังนี้

12.1  คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ที่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการป่วยดังกล่าว ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาและหัวหน้าคณะทำงานฯ โดยทันที

12.2  กรณีแพทย์วินิจฉัยว่าคณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ มีอาการป่วยแต่ยังไม่พบการติดเชื้อ COVID-19 ให้อธิการบดีสถาบันฯ รองอธิการบดีด้านบริหาร หรือหัวหน้าคณะทำงานฯ มีอำนาจพิจารณาดำเนินการกับคณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ตามความเหมาะสม

12.3  กรณีแพทย์วินิจฉัยว่าคณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ติดเชื้อ COVID-19 ให้หัวหน้าคณะทำงานฯ ดำเนินการกับคณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด

 

ข้อ 13 สนามกีฬา และห้องออกกำลังกาย

            13.1  สนามฟุตซอล สนามวอลเลย์บอล สนามบาสเกตบอล เปิดใช้งานตามปกติแต่จะต้องไม่มีการแข่งขัน รวมทั้งการรวมกลุ่มในการเชียร์เกิดขึ้น

            13.2  ห้องออกกำลังกาย กำหนดจำนวนคนในการใช้ห้องออกกำลังกายไม่เกิน 4 คนต่อ 1 ชั่วโมง โดยจะต้องรักษาระยะห่างในการออกกำลังกาย และหลังจากใช้เครื่องออกกำลังกายเสร็จขอให้ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์พ่นทำความสะอาด

            13.3  ปิดสระว่ายน้ำ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

            13.4  สนามเทนนิส และโต๊ะปิงปองเปิดใช้งานตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะเล่น แต่จะต้องใช้ระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และหลักการและสุขอนามัยส่วนบุคคล (Personal Hygiene) อย่างเคร่งครัด

            13.5  สามารถใช้งานเรือคายัคได้

 

ข้อ 14 แผนตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19

          ในกรณีที่มีนิสิต คณาจารย์ บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ มีอาการป่วยจะต้องปฏิบัติตามแผนตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 รวมทั้งในกรณีที่มีการปิดสถาบัน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ให้คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ปฏิบัติตามแผนตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน COVID-19 ที่คณะทำงานกำหนดฯ อย่างเคร่งครัด

 

ข้อ 15 การเยี่ยมชมของคณะผู้เยี่ยมชมภายในประเทศ

          งดคณะผู้เยี่ยมชมที่จะเข้าพื้นที่สถาบันฯ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง


ข้อ 16 การไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

          ให้นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องไปขอให้ปฏิบัติตามหลักข้อ 1 อย่างเคร่งครัด

 

ข้อ 17 ให้นิสิต บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ถือปฏิบัติตามประกาศนี้โดยเคร่งครัด นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป